ข้อมูลโครงการ

โครงการทางพิเศษที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง

  โครงการทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก เป็นโครงการทางพิเศษที่อยู่ในแผนแม่บททางพิเศษในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งเป็นโครงข่าย ทางพิเศษที่เชื่อมโยงการเดินทางในแนวรัศมีระหว่างกรุงเทพมหานครกับพื้นที่ทางด้านตะวันตกของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมถึงการเดินทางจากจังหวัดในภาคใต้ของประเทศไทย เพื่อช่วยให้การเดินทางเข้าสู่กรุงเทพมหานครเป็นไปอย่างสะดวก รวดเร็ว และช่วยลดปัญหาการจราจรติดขัดในปัจจุบันบนถนนพระรามที่ 2

  คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2560 เรื่อง การระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund: TFF) ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เห็นชอบโครงสร้างรูปแบบกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund) เพื่อการระดมทุนของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2560 อนุมัติให้ กทพ. ดำเนินโครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก

  โครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก มีจุดเริ่มต้นโครงการฯ อยู่ที่ กม. 13+000 ของถนนพระรามที่ 2 ก่อสร้างเป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร ซ้อนทับไปตามแนวเกาะกลางถนนพระรามที่ 2 ในทิศตะวันออกเฉียงเหนือจนถึงดาวคะนอง จากนั้นแนวเส้นทางจะเบนไปทางขวาเข้าซ้อนทับกับทางพิเศษเฉลิมมหานครและข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสะพานพระราม 9 โดยจะก่อสร้างสะพานขึงขนาด 8 ช่องจราจร ซึ่งมีช่วงความยาวช่วงสะพาน (Main Span) 450 เมตร ขนานอยู่ทางด้านทิศใต้ของสะพานพระราม 9 จากนั้นแนวเส้นทางจะเชื่อมต่อกับทางพิเศษศรีรัชและทางพิเศษเฉลิมมหานครบริเวณทางแยกต่างระดับบางโคล่ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดโครงการฯ มีระยะทางรวม 18.7 กิโลเมตร โครงการฯ มีทางขึ้น – ลง จำนวน 7 แห่ง โดยแบ่งงานก่อสร้างออกเป็น 5 สัญญา ซึ่งมีสถานะการดำเนินการดังนี้

  สัญญาที่ 1 เป็นงานก่อสร้างทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร ซ้อนทับไปตามแนวเกาะกลางถนนพระรามที่ 2 โครงสร้างทางพิเศษเป็นโครงสร้างคานคอนกรีตอัดแรงรูปกล่องสำเร็จรูป จุดเริ่มต้นของโครงการฯ คือ กม. 13+000 ของถนนพระรามที่ 2 ถึง กม. 6+600 ของถนนพระรามที่ 2 ระยะทางรวมประมาณ 6.4 กิโลเมตร โดย กทพ. ได้ผู้เสนอราคาต่ำสุดคือ กิจการร่วมค้า ซีเอ็นเอ (บริษัท ไชน่าสเตทคอนสตรัคชั่น เอ็นจิเนียริ่งคอร์ปอเรชั่น ลิมิเต็ด, บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เอ.เอส.แอสโซซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964) จำกัด) โดยเสนอราคาที่ 5,897,215,377.35 บาท
  ปัจจุบัน กทพ. อยู่ระหว่างการประกวดราคาหาผู้รับจ้างก่อสร้าง




  สัญญาที่ 2 เป็นงานก่อสร้างทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร ซ้อนทับไปตามแนวเกาะกลางถนนพระรามที่ 2 โครงสร้างทางพิเศษเป็นโครงสร้างคานคอนกรีตอัดแรงรูปกล่องสำเร็จรูปตั้งแต่ กม.6+600 ของถนนพระรามที่ 2 ถึงบริเวณทางแยกต่างระดับดาวคะนอง ระยะทางรวมประมาณ 5.3 กิโลเมตร กทพ. ได้ลงนามสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการฯ สัญญาที่ 2 กับกิจการร่วมค้าซีทีบี ( บริษัท ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง คัมปานี ลิมิเต็ด, บริษัท ทิพากร จำกัด และ บริษัท บุรีรัมย์ธงชัยก่อสร้าง จำกัด) มูลค่าสัญญา 6,440,001,181.87 บาท เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2563 และได้มีหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (Notice to Proceed: NTP) เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563

  ปัจจุบัน ความก้าวหน้างานก่อสร้างสะสม ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563 ผลงานร้อยละ 2.73 จากแผนงานร้อยละ 1.68 (เร็วกว่าแผนร้อยละ 1.05)        

  สัญญาที่ 3 เป็นงานก่อสร้างทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจรคร่อมตามแนวทางพิเศษเฉลิมมหานครช่วงดาวคะนอง-สุขสวัสดิ์-ราษฎร์บูรณะ โครงสร้างทางพิเศษเป็นโครงสร้างคานคอนกรีตอัดแรงรูปกล่องสำเร็จรูประยะทางรวมประมาณ 5 กิโลเมตร กทพ. ได้ออกประกาศฯ เรื่องประกาศผู้ชนะการเสนอราคา โครงการฯ สัญญาที่ 3 โดยการประกวดราคานานาชาติ โดยผู้ชนะการเสนอราคา ได้แก่ กิจการร่วมค้าไชน่าเรลเวย์-ซีวิล-บุญชัย (บริษัท China Railway 11th Bureau Group Corporation Ltd., บริษัท ซีวิลเอนจีเนียริ่ง จำกัด และ บริษัท บุญชัยพาณิชย์ (1979) จำกัด) โดยเสนอราคาที่ 6,098,000,000.00 บาท เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งมีผู้อุทธรณ์ผลการประกวดราคาดังกล่าวจำนวน 1 ราย ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียนได้มีหนังสือแจ้งตอบผลการพิจารณาอุทธรณ์ถึง กทพ. เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2563 โดยสรุปใจความสำคัญคือข้อกล่าวอ้างของผู้อุทธรณ์ฟังขึ้นและมีผลต่อการการจัดซื้อจัดจ้างอย่างมีนัยสำคัญจึงให้ กทพ. กลับไปดำเนินการในขั้นตอนการพิจารณาผลการเสนอราคาของผู้ยื่นข้อเสนอให้ถูกต้องต่อไป ต่อมา กทพ. ได้ออกประกาศยกเลิกประกาศผลผู้ชนะการเสนอราคางานก่อสร้างโครงการฯ สัญญาที่ 3 เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2563

  ปัจจุบัน กทพ. อยู่ระหว่างการประกวดราคาหาผู้รับจ้างก่อสร้าง

  สัญญาที่ 4 เป็นงานก่อสร้างทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจรและก่อสร้างสะพานขึง (Cable-Stayed Bridge) ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ขนาด 8 ช่องจราจร มีความยาวช่วงสะพาน 450 เมตร สิ้นสุดที่ทางแยกต่างระดับบางโคล่ ระยะทางรวมประมาณ 2 กิโลเมตร ส่วนของสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามีความยาวสะพานประมาณ 780 เมตร ช่วงโครงสร้างสะพานส่วนต่อเชื่อม (Approach Bridge) มีรูปแบบเป็นคานคอนกรีตอัดแรงรูปกล่อง ช่วงโครงสร้างพื้นสะพานเป็นแบบ Concrete – Steel Composite Deck กทพ. ได้ลงนามสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการฯ สัญญาที่ 4 กับ บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) มูลค่าสัญญา 6,636,192,131.80 บาท และได้มีหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (Notice to Proceed: NTP) เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2563

  ปัจจุบัน ความก้าวหน้างานก่อสร้างสะสม ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563 ผลงานร้อยละ 13.10 จากแผนงานร้อยละ 11.47 (เร็วกว่าแผนร้อยละ 1.63)

  สัญญาที่ 5 (งานระบบจัดเก็บค่าผ่านทาง ระบบควบคุมจราจร และระบบสื่อสาร) กทพ. ได้ลงร่างประกาศประกวดราคาเมื่อวันที่ 7-18 พฤศจิกายน 2562 ซึ่งต่อมา กทพ. ได้ยกเลิกโครงการประกวดราคาจ้างฯ ในระบบ e-GP เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2563 เนื่องจากมีการปรับปรุงแบบรูปรายการงานก่อสร้างและเอกสารประกวดราคาให้ระบบจัดเก็บค่าผ่านทางเป็นแบบไม่มีไม้กั้นบริเวณตู้เก็บค่าผ่านทาง

  ปัจจุบัน กทพ. อยู่ระหว่างการประกวดราคาหาผู้รับจ้างก่อสร้าง
Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้